“นครเชียงใหม่โบราณ”
หนังสือ “ล้านนาประเทศ” ของอ.ศรีศักร วัลลิโภดม ให้นิยามคำว่า “เมือง” ว่า เมืองไม่ได้มีเฉพาะเขตที่มีคูดินคูน้ำล้อมรอบเท่านั้น ซึ่งจะต้องอาศัยการศึกษาองค์ประกอบในด้านอื่น ๆ อีก เช่น พฤติกรรมหรือปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์ จึงจะช่วยให้นิยามคำว่าเมืองได้ครอบคลุมในหลาย ๆ มิติ ไม่เฉพาะแต่การพิจารณาจากสิ่งที่มนุษย์ก่อสร้างอย่างเดียว
ในราวพุทธศตวรรษที่ 8 ผังเมืองในสมัยทวราวดี บริเวณตอนบน เช่น ชัยนาท นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์ เริ่มมีการแบ่งผังเมืองออกเป็น 2 ชั้น คือชั้นนอกและชั้นใน แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของสังคมมนุษย์ที่เริ่มซับซ้อนมากขึ้น โดยผังเมืองชั้นในนั้นมีหน้าที่พิเศษหรือวัตถุประสงค์บางอย่างที่มนุษย์ให้ความสำคัญ เช่น เป็นเขตประกอบพิธีกรรมทางศานา หรือเป็นเขตอาศัยของเจ้าเมือง
ผังเมืองแบบสี่เหลี่ยมที่มีคูน้ำคูดินล้อมรอบนี้ได้รับอิทธิพลจากขอมราวพุทธศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา ซึ่งยึดจากคติเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของโลกและจะต้องมีศาสนสถานสำคัญอยู่กลางเวียง คติเหล่านี้ส่งผลมาถึงการสร้างเวียงสุโขทัยซึ่งเป็นต้นแบบของการสร้างเวียงเชียงใหม่อีกทอดหนึ่ง
เวียงเชียงใหม่ถอดแบบจากเวียงสุโขทัย
ศิลาจากรึกวัดเชียงมั่นบันทึกว่าพระยาพระร่วงหรือพ่อขุนรามคำแหง พระยามังราย และพระยางำเมือง ได้เสด็จมาร่วมในการวางแผนสร้างเวียงเชียงใหม่ ซึ่งการสร้างเวียงเชียงใหม่ก็ยึดเอาแนวทางการสร้างเวียงสุโขทัยมาแทบทั้งสิ้น
กล่าวคือ เวียงเชียงใหม่มีผังเมืองแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 1,600 เมตร คล้ายคลึงกับผังเมืองเวียงสุโขทัยที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า แตกต่างกันตรงที่เวียงสุโขทัยมีคูและกำแพงเมือง 3 ชั้นแต่เวียงเชียงใหม่มีเพียงชั้นเดียว
เวียงเชียงใหม่ตั้งอยู่บนที่ราบเชิงเขาระหว่างดอยสุเทพกับแม่น้ำปิง ในขณะที่เวียงสุโขทัยก็ตั้งอยู่บนที่ราบระหว่างเขาหลวงกับแม่น้ำยม ซึ่งมีลักษณะการเลือกทำเลที่ตั้งที่เหมือนกัน
“เวียงเชียงใหม่” ที่ว่านี้หมายถึงบริเวณเขตหนึ่งของ “นครเชียงใหม่” ที่เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมจัตุรัสมีคูน้ำและกำแพงเมืองล้อมรอบเท่านั้น แต่เวียงเชียงใหม่นี้เป็นเพียงเวียงชั้นใน ซึ่งยังมีเวียงชั้นนอกอยู่อีกชั้นหนึ่งด้วย