พระพุทธบุษยรัตน์ หรือ พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย เป็น “พระแก้วผลึก” ที่สำคัญและงดงาม จนเป็นที่หมายปองของชนชั้นนำหลากหลายดินแดน “พระพุทธรูป” องค์นี้ รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่า “…งามยิ่งนักหนา หาที่เปรียบไม่ได้… “ ขณะที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเห็นว่า “…ทำงามยิ่งกว่าพระแก้วอย่างเดียวกันแม้ขนาดย่อมๆ ที่ได้เคยมีมา”
ในปัจจุบัน พระแก้วเป็นของ “คู่บ้านคู่เมือง” ของสยาม ในพิธีกรรมสำคัญต่างๆ ล้วนเกี่ยวข้องกับ พระแก้วมรกต อย่างไรก็ตาม พระแก้วสำคัญในสยามยังมีชื่อพระพุทธบุษยรัตน์ ซึ่งอาจพอกล่าวได้ว่าเป็น “พระแก้วผลึก” ที่สำคัญแทบจะเทียบเท่าพระแก้วมรกต
ตำนาน “พระพุทธบุษยรัตน์”
ลักษณะโดยคร่าวของพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย กรมศิลปากร บรรยายว่า มีลักษณะเป็น “ปางสมาธิขนาดหน้าตักกว้าง 7.5 นิ้ว สูงเฉพาะองค์ 15.2 นิ้ว สูงจากฐานถึงพระรัศมี 20.4 นิ้ว ฐานรองด้วยดอกบัวทองคำเป็นกลีบ 3 ชั้น เกสรประดับด้วยเนาวรัตน์ ฐานแข้งสิงห์ทำด้วยทองคำจำหลักลายประดับพลอยสี” เชื่อว่าเป็น พระพุทธรูป ศิลปะล้านนา (กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร, 2560).
ปริศนาที่ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ชัดเจนคือต้นกำเนิดและผู้สร้าง พระพุทธรูป ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน มีแต่เป็นตำนานที่เล่ากันมา โดยในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ว่าด้วย “ตำนานพระพุทธบุษยรัตน์” กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าตำนานที่สอดคล้องกับพงศาวดารเมืองจำปาศักดิ์ทั้ง 3 ฉบับว่า
“ตำนานที่สืบรู้ต้นเรื่องได้เพียงว่า พระพุทธปฏิมาแก้วผลึกพระองค์นี้ มีผู้พาหนีภยันตรายไปซ่อนไว้ในถ้ำเขาส้มป่อยนายอน แขวงเมืองนครจำปาศักดิ ข้างฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง มีพราน 2 คน ชื่อพรานทึง พรานเทิง ไปเที่ยวยิงสัตว์ป่า ไปพบพระแก้วนี้อยู่ในถ้ำ ในตอนปลายสมัยเมื่อกรุงเก่าเปนราชธานี พรานทึง พรานเทิงรู้ว่าเปนของวิเศษ แต่สำคัญว่าเปนเทวรูป จึงไปเส้นสรวงบวงบนตามวิไสยพรานมาเนืองๆ ภายหลังพรานทั้ง 2 นั้นเห็นว่าพระแก้วอยู่ในที่เปลี่ยว เกรงว่าใครมาพบเข้าก็จะลักไปเสีย คิดกันจะเชิญมารักษาไว้เส้นสรวงที่บ้านเรือนตน จึงเอาเชือกผูกพระแก้วแขวนห้อยมากับคันน่าไม้ ในเวลาที่เดินมานั้น แก้วตรงพระกรรณเบื้องขวากระทบคันน่าไม้ลิไปน่อย 1 พรานทึงพรานเทิงรักษาพระแก้วไว้ที่บ้านต่อมา เวลาไปยิงได้สัตว์ป่าสำคัญว่าได้ด้วยอำนาจที่บนบานพระแก้ว จึงเอาโลหิตแต้มเส้นเปนนิจมา
ต่อมาในสมัยเมื่อกรุงธนบุรีเปนราชธานี เจ้าไชยกุมารเปนเจ้านครจำปาศักดิ ได้ทราบความจากพ่อค้าที่ไปเที่ยวซื้อหนังซื้อเขาสัตวป่าตามบ้านพราน ว่าพรานทึงพรานเทิงมีพระแก้วเปนของวิเศษอยู่องค์ 1 เจ้าไชยกุมารจึงให้ไปว่ากล่าวแก่พรานทึงพรานเทิงได้พระแก้วผลึกมา เห็นว่าเปนพระพุทธปฏิมาอันวิเศษจริง จึงให้สร้างวิหารประดิษฐานไว้เปนที่สักการบูชาในเมืองนครจำปาศักดิ
ข่าวที่เจ้านครจำปาศักดิมีพระแก้วผลึกวิเศษองค์นี้ ไม่ได้ทราบเข้ามาถึงกรุงธนบุรี แม้เมื่อกองทัพไทยยกไปถึงเมืองนครจำปาศักดิ เมื่อครั้งตีกรุงศรีสัตนาคนหุต คราวได้พระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกฏ ก็มิได้ทราบความเรื่องพระแก้วผลึกพระองค์นี้ ด้วยพวกเมืองนครจำปาศักดิพากันซ่อนเร้นปิดบังเสีย เจ้าไชยกุมารพิราไลย เจ้าน่าได้เปนเจ้านครจำปาศักดิ ตรงสมัยในรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร ย้ายเมืองนครจำปาศักดิมาตั้งฝั่งตวันตกแม่น้ำโขง ก็สร้างวิหารเปนที่ประดิษฐานพระแก้วผลึกในเมืองใหม่ แต่ความก็ไม่ทราบเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ตลอดรัชกาลที่ 1… อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่
จนเจ้าน่าพิราไลยในรัชกาลที่ 2 โปรดให้ข้าหลวงออกไปปลงศพเจ้าน่าเมื่อปีมแมตรีศกจุลศักราช 1173 พ.ศ. 2354 ข้าหลวงไปเห็นพระแก้วผลึกองค์นี้เข้า จึงบอกแก่พวกท้าวพระยาเมืองนครจำปาศักดิว่า พระแก้วผลึกนี้เปนของวิเศษ ไม่ควรจะเอาไว้ที่เมืองนครจำปาศักดิ ซึ่งอยู่ชายเขตรแดนพระราชอาณาจักร แลเคยมีเหตุโจรผู้ร้ายเข้าปล้นเมือง ถ้ามีเหตุเช่นนั้นอิกของวิเศษอาจจะเปนอันตรายหายสูยไปเสีย พวกท้าวพระยาเมืองนครจำปาศักดิเห็นชอบด้วย จึงมีใบบอกเข้ามาให้กราบบังคมทูลฯ ถวายพระพุทธปฏิมาแก้วผลึกนั้น จึงโปรดให้ข้าหลวงออกไปรับแห่พระแก้วผลึก แลมีการสมโภชตามหัวเมืองรายทางตลอดมาจนถึงกรุงเทพฯ…”
มีบันทึกเรื่องราวเพิ่มเติมเกี่ยวกับช่วงเวลาการแห่ ดังที่ปรากฏในบทความ “ตํานาน “พระแก้วผลึกหมอก” : การเปรียบเทียบความหมายในบริบทวัฒนธรรมสยาม บรู และลาว” โดย เกียรติศักดิ์ บังเพลิง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เนื้อหาส่วนหนึ่งอ้างอิงพงศาวดารนครจาปาศักดิ์ฉบับพระพรหมเทวานุเคราะห์และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจําปาศักดิ์ ซึ่งอธิบายว่า ระหว่างการแห่นั้น รัชกาลที่ 2 ทรงเห็นว่า พระพุทธรูปแก้วผลึกอยู่เมืองลาวมีเครื่องประดับ ปลอกทองคำประดับด้วยแก้วต่างๆ รับทับเกษตรอยู่โดยรอบกับเทริดดังศิลปะลาว และมีพระราชดำริว่า “เป็นฝีมือลาวรุงรังนัก กำบังเนื้อแก้ว ไม่งามเวลาแห่” ทรงมีพระราชโองการให้พนักงานนำเครื่องประดับเหล่านั้นออก
เมื่อมาถึงแล้ว รัชกาลที่ 2 ทรงบูรณะตามแบบพุทธรูป พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 มีใจความต่อมาว่า
“…โปรดให้เชิญพระพุทธปฏิมาแก้วผลึกนั้นไปไว้ที่โรงที่ประชุมช่างข้างพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ให้ช่างจัดเนื้อแก้วผนึกที่เหมือนกับเนื้อแก้วในพระองค์พระพุทธรูป มาเจียนจรในเปนรูปปลายพระกรรณที่ลิอยู่นั้นต่อติดให้บริบูรณ์แล้ว ให้ขัดเกลาชักเงาชำระพระพุทธปฏิมาแก้วผลึกให้เกลี้ยงเกลามีเงาขึ้นสนิทเสมอกัน แล้วทรงพระราชดำริห์พระราชทานอย่างให้ช่างปั้นฐาน มีน่ากระดานชั้นสิงห์บัวหงาย แลน่ากระดานบนลวดทับหลัง ย่อเก็จเปนหลั่น แลมีน่ากระดานท้องไม้ชั้นรองรับบัวกลุ่มหุ้มรับทับเกษตรแก้วต่อองค์พระปฏิมา
ผู้เขียน รัชตะ จึงวิวัฒน์… อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.silpa-mag.com/history/article_37959