แชร์

เมืองโบราณศรีเทพ

ไม่ใช่แค่เมืองเสื่อมถอยหรือจนลง แต่เมืองโบราณศรีเทพไม่ปรากฎร่องรอยการอาศัยอยู่เลยเป็นช่วงเวลานาน และทิ้งปริศนาให้แก่นักโบราณคดีภายหลังว่าสาเหตุใดเมืองโบราณแห่งนี้จึงไร้ผู้คน!
โดยตัวเมืองโบราณศรีเทพนั้น ตั้งอยู่บริเวณที่ราบใกล้กับแม่น้ำป่าสัก ในเขตอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์    มีขนาดพื้นที่กว่า 2,900 ไร่  เผยให้เห็นร่องรอยของชุมชนโบราณ เมือง แหล่งศาสนสถาน รวมไปถึงยังขุดพบโครงกระดูกและข้าวของเครื่องใช้อีกมากมาย ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอารยธรรมอินเดีย รวมไปถึงเขมรและทวารวดี เคยมีความสำคัญมากในช่วง 2,500 ปีก่อนที่เมืองแห่งนี้จะล่มสลาย
ความรุ่งเรืองของเมืองโบราณแห่งนี้เกิดขึ้นจากการเป็นเส้นทางค้าขาย  คุณธนัชญา เทียนดี นักโบราณคดีปฏิบัติการ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ  เล่าว่าเมืองแห่งนี้เจริญรุ่งเรืองมาก สังเกตได้จากการขุดคันน้ำคูดินขนาดใหญ่ มีการจัดการน้ำแบบโบราณ การสร้างเมืองและศาสนสถานขนาดใหญ่ รวมไปถึงมีลักษณะศิลปกรรมที่มีสกุลช่างเป็นของตนเอง  .. เมืองโบราณศรีเทพนั้นรุ่งเรืองมากว่า 700 ปี นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 8-18 อย่างไรก็ตามที่นี่มีปริศนาที่ยังไม่ไขกระจ่างอยู่อีกมาก หนึ่งในนั้นคือการที่นักโบราณคดีพบว่าหลังจาก 700 ปีของความรุ่งโรจน์ จู่ๆ ก็กลับไม่พบหลักฐานการอยู่อาศัยของผู้คนอีกเลย และยังไม่สามารถระบุสาเหตุใดชัดเจน!

หลักฐานทางโบราณคดีชี้ เมืองถูกทิ้งร้าง!

คำว่า ‘ทิ้งร้าง’ นั้นไม่ได้เพียงแค่หมายถึงว่าผู้คนค่อยๆ หายไปจากเมืองแห่งนี้หรือประชากรลดน้อยลง เพราะถ้าหากเป็นเช่นนั้น ก็คงจะมีการปรับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลงบนพื้นที่ให้ได้เห็น แต่คำว่า ‘ทิ้งร้าง’ ที่ถูกนำมาใช้กับเมืองโบราณศรีเทพนั้นแสดงให้เห็นว่าเมืองนี้เมื่อถึงยุคหนึ่งกลับไม่ปรากฎร่องรอยการมีอยู่ของผู้คนอีกเลย

‘ เราดูจากการขุดค้นทางโบราณคดี’

คุณธนัชญา เทียนดี นักโบราณคดีปฏิบัติการ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ  ได้เล่าให้ฟังถึงการขุดค้นทางโบราณคดีที่ยืนยันทฤษฎีดังกล่าว

‘ มองจากสภาพบนดินก่อนเราเห็นละว่าวัดร้าง มีต้นหญ้าขึ้น ต้นไม้ขึ้นปกคลุม’

ถึงตรงนี้หากใครเคยไปที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ หรือติดตามเรื่องนี้ก็อาจจะเคยเห็นภาพเก่าก่อนที่จะมีการขุดค้นทางโบราณคดี ที่ปรากฎว่าโบราณสถานนั้นถูกปกคลุมไปด้วยเนินดิน หญ้า และต้นหญ้า หากเป็นคนทั่วไปซึ่งไม่มีความรู้ก็จะไม่รู้เลยว่าข้างใต้นั้นจะเป็นซากเมืองโบราณขนาดใหญ่ แต่ไม่ใช่กับนักโบราณคดี!

เราขุดลงไปในชั้นใต้ดิน เห็นชั้นวัฒนธรรมตั้งแต่ปัจจุบันย้อนไปถึงอดีตยุคแรกของเมือง ชั้นดินตามยุคสมัยจะมีโบราณวัตถุตามชั้นดิน และแน่นอนว่ามีความแตกต่างกันในแต่ละยุค .. ชั้นล่างสุดเป็นชั้นธรรมชาติยังไม่มีคนอาศัยอยู่ ไม่มีที่อยู่อาศัย เป็นชั้นดินทรายเฉยๆ ไม่มีวัตถุ  ชั้นต่อไปคือชั้นทวารวดี  ชั้นต่อมาเป็นชั้นเขมร จะมีโบราณวัตถุแบบเขมรอยู่’   คุณธนัชญาอธิบายให้ฟังในแต่ละลำดับที่ขุดพบ
‘ ทีนี้พอชั้นถัดมา เราขุดลงไปแล้วพบว่าจากชั้นเขมรจนถึงชั้นปัจจุบัน เรากลับไม่เจอหลักฐานการอยู่อาศัยเลย ไม่มีขยะที่คนโบราณทิ้งไว้เลย เป็นชั้นดินธรรมชาติเปล่าๆ  ไม่มีคนกลับมาใช้พื้นที่ตรงนี้เลย

จากหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีชี้ให้เห็นว่า เมืองโบราณศรีเทพถูกทิ้งร้าง ไร้ผู้คน!

‘ จริงต้องแยกเป็น 2 ประเด็นว่า ทำไมจากเมืองนี้ที่ร่ำรวยสุดๆ กลายเป็นตกต่ำลง และอีกประเด็นคือ ทำไมเมืองนี้ถึงถูกทิ้งร้างไป ‘ นักโบราณคดีปฏิบัติการ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพชี้แจงเพิ่มเติม

พวกเขาสามารถให้ข้อสรุปต่อประเด็นคำถามแรกคือ ‘ทำไมจากมืองนี้ที่ร่ำรวยสุดๆ กลายเป็นตกต่ำลง’ ได้ โดยพบว่าในยุคนั้นเหตุการณ์การตกต่ำ หรือพูดง่ายๆ คือเมืองจนลง เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

‘ ในยุคนั้นพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เสด็จสวรรคต ผลจึงทำให้อำนาจของเขมรที่แผ่ไปไกลถึงภาคกลางของไทยลดน้อยลง ความเป็นเขมรเสื่อมลงตามลำดับ อำนาจทางการเมืองของศรีเทพก็ลดลงเหมือนกัน ประกอบกับเกิดเส้นทางการค้าใหม่ ด้วยว่าจีนสามารถแต่งสำเภาเข้ามาค้าขายด้วยตัวเองได้’

จากการขยายอำนาจทางการค้าด้วยการแต่งสำเภาของคนจีน ส่งผลให้อำนาจบนแผ่นดินเมืองโบราณศรีเทพเปลี่ยนไปเช่นกัน เพราะได้เกิดศูนย์กลางการค้าแห่งใหม่ที่ใกล้ทะเลมากกว่านั่นก็คือสุโขทัยและอโยธยา ตรงข้ามกับเมืองศรีเทพที่อยู่ไกลจากเส้นทางการค้าหลัก จึงทำให้เมืองจนและเสื่อมลง

แต่ความจนก็หาใช่เหตุผลที่คนจะต้องทิ้งเมือง

‘ตรงนี้ก็คือยังเป็นปริศนา และหาคำตอบไม่ได้ว่าทำไมผู้คนถึงทิ้งร้างบริเวณนี้ไป’  คุณธนัชญากล่าวสรุป

‘ จนลงก็จริง แต่ก็ต้องมีคน? แต่ทำไมไม่กลายเป็นชุมชนเล็ก ๆ ทำไมถึงไม่อยู่ต่อ’

การทิ้งร้างเมืองโบราณศรีเทพจึงกลายเป็นปริศนาที่ยังรอวันพิสูจน์ โดยมีการคาดการณ์ว่าสาเหตุของการทิ้งร้างเมืองอาจจะมาจากประเด็นภัยธรรมชาติ ภัยแล้ง หรือโรคระบาด

‘ เราก็จะศึกษาไปตามข้อสันนิษฐานอย่างเช่น ภัยแล้ง จะศึกษาภูมิอากาศสมัยโบราณ การศึกษาเมล็ดพืชในสมัยโบราณ ก็ยังพอเอามาประเด็นมาศึกษาต่อไปได้’

คุณธนัชญากล่าวว่า ประเด็นการทิ้งร้างเมืองเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจศึกษาเพิ่มเติมอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีประเด็นคำถามอื่นๆ ในเมืองศรีเทพที่ยังเป็นปริศนาให้ขุดค้นและหาคำตอบอีกมากเพื่อที่จะเรียนรู้และเข้าใจเมืองแห่งนี้ อาทิ การหา DNA ของคนและสัตว์ในเมือง การหาอายุของคูน้ำคันดิน เพื่อแบ่งแยกว่าเมืองส่วนไหนสร้างก่อนหรือหลัง รวมไปถึงการเก็บรวบรวมหลักฐานทั้งหมดเพื่อสร้างภาพจำลองการใช้ชีวิตของผู้คนในเมืองศรีเทพในยุคนั้น

สำหรับ เส้นทางสู่มรดกโลกศรีเทพ ครั้งหน้าจะพาย้อนไปตั้งแต่วินาทีแรกเริ่มของการขุดค้นพบเมืองโบราณแห่งนี้  ความรุ่งเรืองในสมัยโบราณ ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมืองศรีเทพเท่าที่สืบเสาะได้ในปัจจุบัน และตอบคำถามที่หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมเมืองโบราณศรีเทพถึงสำคัญถึงขั้นต้องขึ้นทะเบียนมรดกโลก! และต่างจากเมืองโบราณที่อื่นอย่างไร?

ขอขอบคุณ -อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

Loading

Scroll to Top