แชร์

เตาทุเรียง ที่บ้านเกาะน้อย

แหล่งเตาทุเรียง อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ที่ทางสำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย กรมศิลปากรดำเนินงานโครงการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งเตาทุเรียงเมืองเก่าสุโขทัย ต่อเนื่องมาจากงบประมาณปี 2559 โดยเริ่มสำรวจ ขุดค้น ขุดแต่งทางโบราณคดีและบูรณะเตาเผาโบราณทั้งหมดที่พบบนพื้นดินเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จากข้อมูลโครงการฯ บอกถึงความสำคัญของแหล่งเตาทุเรียงในด้านการเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาหรือที่รู้จักในชื่อ “สังคโลก” ซึ่งถือเป็นสินค้าสำคัญที่หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจของสุโขทัย ถึงแม้การผลิตที่เมืองเก่าสุโขทัยจะมีขนาดเล็กกว่าของเมืองศรีสัชนาลัยก็ตาม แต่ก็ทำให้พบหลักฐานการส่งออกไปยังดินแดนประเทศใกล้เคียง และในแหล่งโบราณคดีภายในประเทศ ผลจากการดำเนินงานในครั้งนี้ทำให้ทราบว่า มีเตาทุเรียงตั้งเรียงรายอยู่ทางด้านทิศเหนือนอกเมืองสุโขทัย โดยกระจายตัวอยู่บริเวณด้านทิศเหนือและใต้ของวัดพระพายหลวง จำนวน 64 เตา แบ่งเป็นเตาตะกรับหรือเตาระบายความร้อนแนวตั้ง ใช้สำหรับเผาเครื่องปั้นดินเผาที่อุณหภูมิไม่เกิน 800˚C จำนวน 52 เตา เตาประทุนหรือเตาระบายความร้อนแนวนอน ใช้สำหรับเผาเครื่องปั้นดินเผาที่อุณหภูมิ 900-1,200˚C จำนวน 12 เตา และบ่อหมักดินรูปสี่เหลี่ยมอีก 2 บ่อ ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะมีการขนส่งผลิตภัณฑ์ผ่านทางคลองแม่ลำพันที่อยู่ใกล้กับกลุ่มเตาและเชื่อมต่อไปยังแม่น้ำยมที่อยู่ห่างจากเมืองสุโขทัยไปทางตะวันออกประมาณ 12 กิโลเมตร และยังสามารถขนส่งสินค้าทางเกวียนผ่านถนนพระร่วงซึ่งอยู่ติดกันกับกลุ่มเตาได้อีกทางหนึ่งด้วย ขุดค้นโบราณคดี พบเครื่องถ้วยสังคโลกจำนวนมาก โบราณวัตถุที่ขุดพบนั้นมีความน่าสนใจ พบว่ามีลักษณะบิดเบี้ยวแสดงถึงของเสียจากการผลิต ส่วนใหญ่เป็นภาชนะดินเผา เช่น จาน ชาม กระปุก แจกัน ที่มีการตกแต่งด้วยการทาน้ำดินรองพื้นสีขาวและเขียนลายสีดำใต้เคลือบใส วาดเป็นลวดลายต่างๆ เช่น ปลา พบทั้งแบบปลาตัวเดียวไปจนถึง 4 ตัวในใบเดียว นอกจากนี้ยังมีสัตว์น้ำอื่นๆ ลายพันธุ์พฤกษา ลายเรขาคณิต และยังพบชิ้นส่วนเครื่องประดับสถาปัตยกรรม เช่น มกร สิงห์ บราลี กระเบื้องหลังคา ตุ๊กตาดินเผา รวมทั้งกี๋ หรือตัวรองคั่นผลิตภัณฑ์ตอนเข้าเตาเผา รูปแบบต่างๆ ที่บางส่วนมีการเขียนลวดลายหรือตัวอักษร จากการวิเคราะห์โบราณวัตถุยังพบอีกว่า ลวดลายที่ปรากฏบนภาชนะในระยะแรกของการผลิตนั้นมีความวิจิตรบรรจงมากกว่าภาชนะที่ผลิตขึ้นในยุคหลัง อาจเป็นผลจากอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกที่ต้องเร่งรีบจึงลดความประณีตลง ตัวอย่างภาพชนะดินเผาที่ขุดพบทางโบราณคดี จาการส่งตัวอย่างถ่านไปหาค่าอายุด้วยเรดิโอคาร์บอนแบบ AMS Dating (Accelerator Mass Spectrometry) ที่มหาวิทยาลัยไวกาโต้ ประเทศนิวซีแลนด์ ทำให้นักโบราณคดีกำหนดช่วงเวลาได้ชัดเจนขึ้น ว่าระยะแรกของการเริ่มผลิตสังคโลกที่แหล่งเตาทุเรียงเมืองสุโขทัย เริ่มขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ.1953 – 2123 หรือเมื่อราว 600 ปีมาแล้ว หรือตรงกับสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) ต่อมาระยะหลังมีการก่อสร้างเตาเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งมีการส่งออกเครื่องสังคโลกอย่างแพร่หลาย กำหนดอายุราว 450 ปีมาแล้ว ซึ่งตรงกับช่วงปลายของสุโขทัย จนถึงช่วงเวลาที่อยู่ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยา

เครดิตภาพ:https://th.wikipedia.org/

Loading

Scroll to Top